ประวัติของโมรา

        นางโมรา  เป็นชื่อของนางในวรรณคดีเรื่อง”จันทโครพ “  ที่นอกใจสามี เป็นเหตุให้จันทโครพตาย เรื่องมีอยู่ว่าจันทโครพได้ไปศึกษาเล่าเรียน อยู่กับพระฤษีตนหนึ่งจนสำเร็จวิชา อาจารย์เลยให้ผอบทอง ซึ่งมีสาวสวยอยู่ข้างในนั้นคือ นางโมรา โดยพระฤษีกำชับนักหนาว่า อย่าเพิ่งเปิดผอบระหว่างทาง  แต่ความที่อยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น ทำให้จันทโครพตัดสินใจเปิดออกดู เมื่อเห็นนางโมราก็หลงรักทันที และได้นางเป็นชายาที่กลางป่านั่นเอง แต่ขณะที่ทั้งคู่เดินทางกลับเมือง ก็ไปเจอโจรป่าเข้าเลยถูกปล้น โดยโจรหวังจะชิงนางโมราไปด้วย จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ท้ายที่สุด พระขรรค์หลุดออกไป จันทโครพตะโกนให้นางส่งพระขรรค์ให้ แต่นางกลับส่งให้โจรเอามาฆ่าจันทโครพตาย  ส่วนโจรได้นางโมราไปแล้วก็เกิดไม่แน่ใจ กลัวถูกทรยศเหมือนจันทโครพ เลยแอบหนีนางไป ทำให้โมราต้องระหกระเหินหิวโหยอยู่ในป่า พระอินทร์จึงแปลงร่างเป็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อมาลองใจ โดยตกลงว่าเมื่อให้ชิ้นเนื้อแล้ว นางต้องมาเป็นภรรยา นางโมราก็มิได้ขัดขืนแต่อย่างใด พระอินทร์เห็นเช่นนั้นก็โกรธว่า เป็นหญิงมักมากในกามคุณ โดยไม่เลือกว่าโจรหรือสัตว์ จึงสาปนางให้กลายเป็นชะนี ส่งเสียงร้องโหยหวนเรียกหาสามีของตน  เพราะเหตุนี้จึงมีการเรียกผู้หญิงหลายใจว่า “โมรา”
           แต่ถ้ามองอีกมุม การที่ว่านางโมราเป็นผู้หญิงหลายใจก็น่าสงสาร นางพึ่งออกจากผอบมาไม่นาน และยังออกก่อนเวลาอันควร นางไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดู ชีวิตเริ่มแรกนางก็ต้องอยูในป่า ไม่มีความสะดวกสบาย สิ่งแรกที่นางได้พบเจอคือ จันทโครพ ซึ่งเป็นผู้ชาย  อีกทั้งนางยังมีรูปโฉมงดงาม จนผู้ใดพบเห็นเป็นครั้งแรกก็ตกหลุมรัก  จันทโครพเองก็ตกหลุมรักนางตั้งแต่แรกพบเช่นกัน ท้ายสุดนางก็ตกเป็นภรรยาของจันทโครพ ด้วยความไม่รู้ของนาง นางอาจคิดว่าสิ่งที่สำคัญในตัวนาง คือ หน้าตา เรือนร่างและประสบการณ์ทางเพศ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่นางพบเจอจาก จันทโครพ  จากที่ได้กล่าวไว้ว่านางมีรูปโฉมงดงาม ชายใดได้พบก็หลงรัก โจรป่าก็เช่นกันที่หลงรักนางตั้งแต่แรกพบ ซึ่งนางเองก็มีใจให้เช่นกัน ด้วยความอยู่รอดและความลุ่มหลงในหน้าตาของโจรทำให้นางเลือกที่จะอยู่ฝ่ายโจรป่า นางอาจคิดว่าเรือนร่างนางจะทำให้โจรป่ารักนางและไว้ชีวิตนาง ในที่นี้อาจบอกได้ว่านางยังไม่รู้จักความรักดีพอ อาจด้วยเหตุผลที่ว่านางยังไม่เข้าใจและพึ่งพบเจอกับสิ่งนี้ เช่นเดียวกับคนเราเมื่อได้ทำหรือพบเจอสิ่งใดเป็นครั้งแรก ก็มักประหม่าและผิดพลาดได้ นางก็เช่นเดียวกัน หากว่าจันทโครพเปิดผอบตามที่ฤๅษีบอกไว้ นางคงได้รับการเลี้ยงดูและเรียนรู้เรื่องราวในโลกต่างๆ ซึ่งนางและจันทโครพอาจครองรักกันยาวนานดั่งในเรื่องวรรณคดีทั่วๆไปก็เป็นไปได้ ดั้งนั้นหากจะโทษสาเหตุที่จันทโครพตายเพราะนางหลายใจ ทำไมถึงไม่โทษจันทโครพเล่าที่เปิดผอบก่อนเวลาอันควร ทำให้ต้องพบเจอเรื่องราวเหล่านี้
๑. บทบาทในการดำเนินชีวิต 
 ในการดำเนินชีวิตของนางโมรานับว่าไม่สุขสบาย และแตกต่างไปจากนางในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ โดยจันทะโครพเปิดผอบออกมาที่กลางป่า จึงไม่ได้รับความสุขสบาย ถึงแม้ว่านางโมราจะเป็นตัวละครหลักของวรรณคดีเรื่องจันทโครพ แต่ช่วงเวลาในการใช้ชีวิตนอกผอบของนางโมราก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่ได้รับความสุขสบายแต่อย่างใด มีเพียงการดูแลปรนนิบัติ จากจันทโครพผู้เป็นสามีคนแรกเท่านั้น
๒. รูปโฉม
 เนื่องจากนางโมราเป็นหญิงที่เกิดจากการปลุกเสกจากขนนกยูงโดยพระฤๅษีอัศโมพระโคดม จึงได้มีรูปร่าง หน้าตาที่สวยงาม ไม่แพ้หญิงใด โดยสังเกตได้จากการที่พระจันทะโครพเกิดตกหลุมรักนางโมราทันทีที่ได้พบนาง แสดงให้เห็นถึงความงามที่จับตา ต้องใจ จนทำให้ผู้ที่ได้พบนางเพียงครั้งแรกได้เกิดอาการหลงรักได้ อีกทั้งเมื่อโจรป่ามาพบนางเข้าก็เกิดอาการหลงรักนางเช่นเดียวกับพระจันทะโครพ จึงอาจกล่าวได้ว่า นางโมรา เป็นนางในวรรณคดี ที่มีรูปโฉมงดงามนางหนึ่งเช่นกัน

๓. ลักษณะนิสัย
 จากการที่หลายคนเคยได้ยินเรื่องราวของนางโมรามาก่อน ว่าเป็นหญิงที่ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้เป็นสามี และเป็นหญิงที่ฆ่าสามีของตนได้นั้น หากมองลึกเข้าไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้นางได้กลายเป็นเช่นนั้นแล้ว อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด จากเกลียดนางโมรา กลายเป็นเกิดความสงสารนางโมราได้ เช่นในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูพบว่า "ผอบ" เป็นสัญลักษณ์แทนการจำกัดขอบเขตสภาพแวดล้อมในการ อบรมเลี้ยงดู มีอิทธิพลทำให้นางโมราไม่มีโอกาสเรียนรู้การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามศีลธรรมอันดีงาม เป็นสาเหตุให้นางพึงพอใจในตัวของนายโจรเช่นเดียวกัน อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับนางพบว่า "ป่า" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพสังคม ที่มีความด้อยทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับสภาพสังคมที่นางเคยดำรงชีวิตมาก่อน มีอิทธิพลในการกระตุ้น พฤติกรรมที่แสดงถึงความด้อยทางวัฒนธรรมของนาง ซึ่งแอบแฝงอยู่ในประสบการณ์ ไร้สำนึก ให้ปรากฏขึ้นจึงอาจกล่าวได้ว่านางโมราเป็นหญิงที่ใจง่าย และยอมแลกเรือนร่างของตนเองได้กับทุกอย่างที่ต้องการ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นสัญชาติญาณของสัตว์ป่า ดังเช่นชาติกำเนิดของนางนั่นเอง 

๔. สติปัญญาและความสามารถ
 สำหรับสติปัญญาแลความสามารถของนางโมรานั้นไม่โดดเด่นเท่าไรนัก เนื่องจากนางไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดู ไม่มีการคิดและการตัดสินใจที่ดีนางจึงนับว่าเป็นนางในวรรณคดีที่ไม่มีความรู้ความสามารถใดๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
 จันทโครพเป็นวรรณคดีที่แสดงน้ำเสียงของผู้แต่งชัดเจนว่ามีทัศนะด้านลบต่อนางโมรา ตัวละครหญิงของเรื่อง ผู้แต่เรื่องนี้เป็นชาย จึงแสดงจุดประสงค์ชัดเจนว่าแต่งเรื่องนี้เพื่อสอนผู้ชายด้วยกันให้รู้พิษสงความชั่วร้ายของเพศหญิง ผู้แต่งใช้คำแรงๆ เมื่อพูดถึงนางโมรา เช่น ขึ้นต้นเรื่องว่า “จะกล่าวกาลกิณีนารีร้าย” พระอินทร์สาปนางเป็นชะนีก็เพื่อ “จะประจานไว้ให้ทั่วทั้งโลกา ว่าหญิงกาลกิณีนารีทวีป” 
 การที่พระอินทร์แปลงกายเป็นเหยี่ยวขอร่วมประเวณีกับนางโมราก็น่าจะเป็นการแต่งเติมเพื่อตอกย้ำราคะจริตของนางโมราให้มากขึ้นมากกว่า และน่าคิดว่าออกจะเป็นการจงใจ และไม่ยุติธรรมต่อตัวละครหญิงผู้นี้
 ดังนั้น เราอาจจะกล่าวได้ว่า โมรา เป็นตัวละครหญิงที่ถูกสร้างให้มีลักษณะนิสัยด้านลบอย่างเด่นชัด เพื่อให้สอดคล้องกับโครงเรื่อง และนำเสนอแก่นเรื่องตรงเป้าหมายชัดเจน โมราทำเรื่องให้จันทะโครพมีพลังเข้มข้นในการแสดงทัศนคติของชายที่มีต่อหญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี เรื่องราวของนางโมราจึงเป็นตำนานที่อ้างอิงกันต่อมาเพื่อประณามความชั่วของเพศหญิง และแนวคิดนี้คงสืบทอดต่อไปอีกยาวนาน.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วันใส่น้ำมันผมวันตัดเล็บสระผมและตัดผมมงคลที่สุด

พระนารายณ์

พระแม่สรัสวดี เทพีแห่งความรู้