คำทำนาย ชูชก
ตำนานชูชกปรากฏในมหาเวสสันดรชาดก พระเวสสันดรอันเป็นชาติสุดท้ายของการสั่งสมบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ชูชกเป็นพราหมณ์อยู่ในเมืองกลิงคราษฎร์ เที่ยวท่องขอทานไปทั่ว และด้วยนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ รู้จักอดออม เงินที่ขอเขามาเก็บไว้จึงมีมากมาย เข้าขั้นเศรษฐี ชูชก นำไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ ครั้นเมื่อกลับไปทวงถาม ปรากฏว่าเพื่อนได้ใช้เงินหมดไปแล้ว เลยยกลูกสาว คือ นางอมิตดา วัยแรกรุ่นสวยงามให้แทน
ทั้งที่ชูชกมีรูปร่างอุบาทว์อัปลักษณ์ยิ่งนัก แต่นางอมิตดาก็ยังขยันปรนนิบัติสามีเป็นอย่างดี นางตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร ดูแลบ้านเรือนไม่มีขาดตกบกพร่อง ความประพฤติที่ดีเพียบพร้อมของนางอมิตดา ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ในไม่ช้าบรรดาพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันตำหนิติเตียนภรรยาของตน ที่มิได้ประพฤติตนเป็นแม่บ้านแม่เรือนอย่างนางอมิตดา ทำให้พวกภรรยาพราหมณ์อิจฉาริษยามาคอยด่าทอ นางอมิตดาอยู่ทุกวัน
นางอมิตดามาเล่าให้ชูชกฟัง ชูชก จึงบอกว่า ต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการงานสิ่งใด ชูชกจะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง นางอมิตดาจึงว่า "ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร จะปล่อยให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิงที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนมาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้วให้ผู้อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะ ชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า"
ชูชก ได้ฟังดังนั้น ก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชายมาจากไหน นางอมิตดาจึงแนะว่า "ขณะนี้พระเวสสันดรเสด็จออกมาจากเมืองสีพี มาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า พระองค์เป็นผู้ใฝ่ในการบริจาคทาน ท่านจงเดินทางไปขอบริจาคพระชาลี กัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรมาเป็นข้าทาสของเราเถิด"
ชูชกจึงไปทูลขอพระโอรสธิดา เพื่อเป็นข้าช่วงใช้ของตน พระเวสสันดรทรงมีพระทัยยินดีที่จะทรงกระทำบุตรทาน คือ การบริจาคบุตรเป็นทาน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เมื่อได้ตัวพระชาลี กัณหา แล้วระหว่างเดินทางกลับ บังเอิญผ่านไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัยทรงทอดพระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสอง ก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า ชูชกทูลว่า พระเวสสันดร ทรงบริจาคพระชาลี กัณหา ให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว
พระเจ้าสญชัยก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลังมาไถ่ตัวพระนัดดาจากชูชก และโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูชูชก ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทาน ไม่เคยได้บริโภคอาหารดีๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมากจนทนไม่ไหว ถึงแก่ความตายในที่สุด
ด้วยเหตุที่ชูชกผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ และพื้นฐานของชูชกมีลักษณะเกล้าผมมวยแบบพราหมณ์ มีหนวดเครา หลังค่อม ไม่สวมเสื้อ ถือไม้เท้า และสะพายย่าม มีเงินทองมากมาย มีกินมีใช้ จึงเป็นที่มาของเครื่องรางในตำนานอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีคติความเชื่อทางในทางไสยศาสตร์ยกย่องชูชกว่า เป็นคนมีเสน่ห์ มีลาภมาก ข้าวปลาอาหาร บ้านเรือน และบริวาร จะขออะไรใครเขาก็ให้ เป็นการกระตุ้นให้อยากทำทาน เป็นผู้เสียสละ สำหรับผู้ที่เคยฟังเทศน์มหาชาติ โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก พระนักเทศน์หลายท่านได้มีข้อคิดประจำกัณฑ์ ว่า
๑.ของที่รักและหวงแหนที่โบราณห้ามฝากผู้อื่นไว้คือ เงิน ม้า เมีย ยิ่งน้องเมีย ห้ามฝากเด็ดขาด อันตรายมาก
๒.ภรรยาที่ดีย่อมไม่ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ข้าวตำ ตักน้ำ ฝืนตอหักหา น้ำร้อนน้ำชา เตรียมไว้ให้เสร็จ
๓.ของไม่คู่ควรย่อมมีปัญหา ตำราหิโตปเทศ กล่าวว่า “ความรู้เป็นพิษเพราะเหตุที่ไม่ใช่ อาหารเป็นพิษเพราะเหตุไฟธาตุไม่ย่อย ปราสาทเป็นพิษสำหรับทุคคตะ เมียสาวเป็นพิษเพราะผัวแก่ ฉะนั้นไม่ควรริเป็นวัวแก่ที่คิดจะเคี้ยวหญ้าอ่อน"
เสริมดวง
ชูชก มีอานุภาพทางด้านเสริมดวงในทางด้านขอโชคขอลาภ กู้หนี้ยืมสิน ขอลาภเงินทอง เจรจาขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอเลื่อนและขอลาภจากผู้ใหญ่และด้านการขอทุกชนิด จึงเป็นที่มาของการบูชาชูชก สุดยอดของการขอสิ่งสูงสุดของ พระเวสสันดร หรือเลือดในไส้นั่นเอง และที่สำคัญมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ
คาถาบูชาชูชก (พ่อปู่ชูชก)
ตั้งนะโม ๓ จบ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น